You are here: Home » Industrial » ชงเพิ่ม’ปราจีนบุรี’เข้าอีอีซี
ชงเพิ่ม’ปราจีนบุรี’เข้าอีอีซี

สภาอุตฯตะวันออกชี้ เป็นแหล่งลงทุนสำคัญ
สภาอุตสาหกรรม ภาคตะวันออก หนุนรัฐขยายอีอีซีครอบคลุมสระแก้ว จันทบุรี ตราด ดันศักยภาพค้าชายแดน ต่อยอดอีอีซี เชื่อมโยงซัพพลายเชน ชงเพิ่มปราจีนบุรี ชี้เป็นแหล่งอุตสาหกรรมสำคัญ สภาอุตฯ ตราด แนะยกระดับเป็นศูนย์กลาง โลจิสติกเชื่อมอินโดจีนจ.สระแก้วเป็น ฮับธุรกิจโรงพยาบาล-การศึกษา
นายชาญกฤช เดชวิทักษ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออก เปิดเผยว่า การที่ภาครัฐมีแนวคิดที่จะรวม 3 จังหวัด คือ ตราด สระแก้วและจันทบุรี เข้ามารวมอยู่ ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นเรื่องดีมากจะช่วยเสริมศักยภาพการลงทุน ในอีอีซี เพราะจะเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตไปยัง 3 จังหวัดใหม่ ซึ่งเป็นแหล่งผลิตชิ้นส่วน และวัตถุดิบการเกษตรที่หลากหลาย รวมทั้ง มีราคาที่ดินและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำกว่าระยอง ชลบุรีและฉะเชิงเทรา และช่วยลดต้นทุนโลจิสติกส์ในการเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิต
สำหรับการขยายพื้นที่เพิ่ม 3 จังหวัด เชื่อว่ารัฐบาลเห็นถึงศักยภาพในเรื่องของการค้าชายแดนที่มีด่านการค้าชายแดนอยู่ทุกจังหวัด ซึ่งช่วยเพิ่มจุดเด่นให้อีอีซีในการส่งสินค้าเข้าไปยังกัมพูชา ลาวและเวียดนาม เพิ่มเติมจากจุดเด่นเดิมที่มีท่าเรือน้ำลึก ในการกระจายสินค้าไปทั่วโลก
ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะรวม จ.ปราจีนบุรี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอีอีซีด้วย เพราะปราจีนบุรีเป็นแหล่งอุตสาหกรรมที่สำคัญของภาคตะวันออกมีนิคมอุตสาหกรรมอยู่หลายแห่ง เช่น สวนอุตสาหกรรมโรจนะ สวนอุตสาหกรรม 304 ซึ่งมีคำขอรับการส่งเสริม การลงทุนจากบีโอไอในระดับสูง โดยสภาอุตสาหกรรมภาคตะวันออกจะผลักดัน ในเรื่องนี้กับภาครัฐต่อไป
นายสุทธิลักษณ์ คุ้มครองรักษ์ ประธาน สภาอุตสาหกรรม จ.ตราด กล่าวว่า ตราดมีจุดเด่น หลายประการในการต่อยอดอีอีซี โดยเฉพาะในเรื่องของเป็นแหล่งวัตถุดิบด้านการเกษตรการท่องเที่ยวและเป็นประตูการค้าสู่กัมพูชาและเวียดนามซึ่งการที่ขยายเขตอีอีซีมาที่ตราด จะนำ พ.ร.บ.อีอีซี มาใช้ในพื้นที่ทำให้การบริหารจัดการเรื่องต่างๆ ได้รวดเร็ว “ตราดมีการเพาะปลูกผลไม้เป็น จำนวนมากจึงมีโอกาสสูงที่จะนำพืชผลการเกษตรเหล่านี้ต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพเช่นการสกัดสาระสำคัญในมังคุดเพื่อผลิตอาหารเสริมหรือยารักษาโรคเป็นต้นรวมทั้ง การส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารซึ่งจะ ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น”
ทั้งนี้ การเพิ่มศักยภาพของตราดให้เกิดประโยชน์สูงสุดควรจะยกระดับให้เป็น ศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอีอีซี เพื่อกระจายสินค้า ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยการเร่งพัฒนา เส้นทางคมนาคมจากตัวเมืองตราดไปสู่ด่าน การค้าชายแดน อ.คลองใหญ่ เพื่อให้ขนส่งสินค้า สะดวกรวดเร็วรวมทั้งการขยายเส้นทางรถไฟ ให้ไปถึงชายแดน อ.คลองใหญ่และประสานกับ รัฐบาลกัมพูชาเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ ซึ่งใช้ งบประมาณไม่มาก เพราะทางฝั่งเกาะกงของ กัมพูชามีเส้นทางรถไฟอยู่แล้ว ซึ่งหากเชื่อมต่อ ทางรถไฟได้ก็จะทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้า ลดลงและยังกระจายสินค้าได้ทั่วประเทศกัมพูชา รวมทั้งเข้าถึงเวียดนามซึ่งจะสะดวกมากขึ้นจากปัจจุบันที่ใช้ขนส่งทางเรือและถนน
นอกจากนี้ควรยกระดับด่านการค้าชั่วคราวท่าเส้นและด่านบ้านม่วงให้เป็น ด่านการค้าถาวร เพราะกัมพูชาเน้นการพัฒนาพื้นที่ชายแดนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประตูการค้าให้กับตราดรองรับปริมาณการค้าที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตรวมทั้งควรจะประสานความร่วมมือกับเขตเศรษฐกิจพิเศษของกัมพูชาเพื่อให้เขตเศรษฐกิจพิเศษของทั้ง 2 ประเทศได้ทำงานร่วมกันใช้จุดแข่งของทั้ง 2 ประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุด
หนุนตราดขึ้นชั้นเป็นกรีนซิตี้
นายสุทธิลักษณ์ กล่าวว่า ปัญหาสำคัญอีกประการที่ต้องเร่งแก้ไขก็คือเรื่องของผังเมืองซึ่งในปัจจุบันผังเมืองของจ.ตราด จะมีลักษณะ “กรีนซิตี้” จะเน้นในพื้นที่เกษตรเป็นหลักทำให้มีข้อจำกัดในการลงทุนหรือขยายภาคอุตสาหกรรมควรจะปรับผังเมืองให้มีความยืดหยุ่นเปิดให้โรงงานแปรรูปการเกษตรเข้าไปตั้งอยู่ในพื้นที่เกษตรได้เพื่อลดต้นทุนการขนส่งและยกระดับรายได้เกษตรกรรวมทั้งการตั้งนิคมอุตสาหกรรมที่เน้นในเรื่องอุตสาหกรรมเบาเช่นอุตสาหกรรมการเกษตรอุตสาหกรรมชีวภาพอุตสาหกรรมที่ไม่ก่อมลพิษหรืออุตสาหกรรมโลจิสติกส์ ซึ่งจะช่วยแปรรูปผลผลิตการเกษตรได้เพิ่มขึ้น และต่อยอดการผลิตในอีอีซีได้ “ผังเมืองในปัจจุบันมีความเข้มงวดมาก แม้กระทั่งโรงบรรจุก๊าซหุงต้มก็ไม่สามารถตั้งได้ มีเพียงโรงบรรจุก๊าซเดิมที่ตั้งก่อนประกาศผังเมืองที่ดำเนินงานได้ทำให้มีปริมาณ ก๊าซหุงต้มไม่เพียงพอต้องไปนำเข้ามาจากจังหวัดอื่นจึงมีต้นทุนสูงขึ้นซึ่งการปรับผังเมืองให้ยืดหยุ่นจะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น” นอกจากนี้รัฐบาลควรจะเข้าไปหารือกับรัฐบาลกัมพูชาแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวเนื่องจากรัฐบาลกัมพูชาประกาศจะออก บอเดอร์พาทให้เฉพาะแรงงานกัมพูชาในจังหวัดที่อยู่ติดกับจ.ตราดเท่านั้นซึ่งมีอยู่ไม่มากทำให้แรงงานกัมพูชาในจังหวัดอื่นๆ เข้ามาทำงานที่ตราดได้ยากซึ่งหากรัฐบาลกัมพูชาแก้ปัญหานี้ก็จะทำให้มีแรงงานเข้ามา สู่ภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
แนะสระแก้วศูนย์กลางสุขภาพ
น.ส.ตรีนุช เทียนทอง ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่า หากรัฐบาลรวมสระแก้วเข้ากับอีอีซีก็จะเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาสระแก้วให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจสุขภาพการรักษาพยาบาลและ ธุรกิจการศึกษาในอีอีซี เพราะขณะนี้เศรษฐกิจของกัมพูชาพัฒนาอย่างรวดเร็วทำให้ประชาชนที่มีรายได้สูงขึ้น ในขณะที่ ระบบรักษาพยาบาลและการศึกษาของกัมพูชา ยังไม่ดีนักทำให้มีชาวกัมพูชาจำนวนมากเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลที่กรุงเทพและส่งบุตรหลานเข้ามาเรียนในประเทศไทย ดังนั้นหากรวมสระแก้วเข้าเป็น ส่วนหนึ่งของอีอีซีก็จะพัฒนาทั้ง 2 ธุรกิจนี้ ได้เร็วขึ้นเพราะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเป้าหมายของอีอีซีซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์ส่งเสริมการลงทุนเต็มที่รองรับลูกค้าจากประเทศเพื่อนบ้านและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรรองรับอุตสาหกรรมภายในอีอีซี “ในจ.บันเตียเมียนเจยและปอยเปตของกัมพูชาที่อยู่ติดกับจ.สระแก้วมีเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วมากหากมีการตั้งธุรกิจโรงพยาบาลและสถานศึกษาเชื่อว่าผู้ที่มีรายได้สูงจากกัมพูชาจะเข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นมากเพราะอยู่ติดกัมพูชาไม่จำเป็นต้องมาถึงกรุงเทพ”
นอกจากนี้ สระแก้วยังมีเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนและนำ พ.ร.บ.อีอีซีเข้ามาครอบเขตเศรษฐกิจสระแก้วจะช่วยเพิ่มศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนมากขึ้น รวมทั้งยังมีจุดเด่นในเรื่องของแรงงานต่างด้าวเนื่องจากมีชายแดนติดกับประเทศกัมพูชาสามารถจัดหาแรงงานต่างด้าวได้ง่ายจึงเหมาะกับการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานสูง
ทั้งนี้ สระแก้วก็มีศักยภาพในการป้อนวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมชีวภาพได้เพราะเป็นพื้นที่เพาะปลูกอ้อยและมันสำปะหลังที่สำคัญของประเทศรวมทั้งยังเป็นแหล่งปลูกผลไม้หากรัฐบาลส่งเสริมครบวงจรก็จะช่วยต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอาหาร ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้
สนใจเช่าหรือซื้อพื้นที่อุตสาหกรรมในเขตอีอีซี ติดต่อ CBRE
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ – 17 สิงหาคม 2561
Nora has been in the Corporate Communications arena for a number of years. Nora's role is to communicate all newsworthy items that are of a PR nature.
No comment