ข่าวประชาสัมพันธ์

Hybrid Working เปลี่ยนโฉมสำนักงานยุคใหม่

03 ธันวาคม 2567

hybrid-working-reshapes-workplace-972x1296

ติดต่อ

จริญญา ยังประภากร

หัวหน้าแผนกการตลาดและสื่อสารองค์กร ประเทศไทย

ภาพของ charinya-youngprapakorn

การทำงานแบบไฮบริด (Hybrid Working) ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในองค์กรต่าง ๆ หลังยุคโควิด-19 ซึ่งเหตุผลหลักนั้นมาจากความต้องการขององค์กรที่จะปรับปรุงพอร์ตอสังหาริมทรัพย์ของตนเองและลดต้นทุนในการเช่าระยะยาว  การเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานแบบยืดหยุ่นเช่นนี้ช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวอย่างรวดเร็วให้เข้ากับสภาวะตลาดและความต้องการด้านการดำเนินงานที่เปลี่ยนไป การผสมผสานการทำงานนอกและในสำนักงานอย่างมีกลยุทธ์จะส่งผลให้องค์กรสามารถปรับขนาดพื้นที่ทำงานให้ใหญ่ขึ้นหรือเล็กลงตามความจำเป็นได้  อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านไปสู่การทำงานแบบไฮบริดให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องบริหารการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานอย่างรอบคอบ รวมถึงการพิจารณาถึงรูปแบบที่หลากหลายที่จะช่วยให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

เพื่อเปลี่ยนสู่การทำงานแบบไฮบริดได้อย่างประสบความสำเร็จ องค์กรต้องกำหนดนโยบายที่ชัดเจน ออกแบบสำนักงานที่รองรับการทำงานแบบยืดหยุ่น และลงทุนในเครื่องมือสำหรับการทำงานร่วมกันแบบไฮบริด ซึ่งรวมถึงการสร้างพื้นที่ทำงานที่ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม รวมถึงการนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ เพื่อสร้างการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในสภาพแวดล้อมการทำงานที่หลากหลาย

จากการสำรวจล่าสุดของ ซีบีอาร์อี บริษัทที่ปรึกษาอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำระดับโลก เกี่ยวกับมาตรฐานสำนักงานและความคิดเห็นของลูกค้าทั่วโลก พบว่า องค์กรส่วนใหญ่กำหนดให้พนักงานใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งหนึ่งทำงานในสำนักงาน ขณะที่มีองค์กรน้อยกว่า 10% ที่กำหนดให้พนักงานเข้าสำนักงานเต็มเวลา ที่น่าสนใจคือ 63% ขององค์กรที่เป็นกลุ่มสำรวจมีจุดประสงค์หลักในการออกแบบสำนักงานเพื่อรองรับการทำงานในรูปแบบที่แตกต่างกัน (Activity-based Working) และ 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามกำลังเพิ่มการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management) และการลงทุนด้านเทคโนโลยีไว้ในแผนกลยุทธ์การทำงานแบบยืดหยุ่นขององค์กร

“การทำงานแบบไฮบริดที่เพิ่มมากขึ้นส่งผลอย่างเห็นได้ชัดต่อความต้องการพื้นที่สำนักงาน ตั้งแต่ปี 2564 การนำรูปแบบการทำงานแบบไฮบริดมาใช้อย่างแพร่หลายส่งผลให้การใช้พื้นที่ร่วมกันเพิ่มขึ้น 30% สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงแนวทางที่บริษัทใช้พื้นที่ของตนเอง ในปัจจุบัน ความต้องการพื้นที่สำนักงานไม่ได้ขับเคลื่อนจากเพียงแค่จำนวนพนักงานเท่านั้น แต่ขับเคลื่อนจากการผสมผสานความต้องการทางธุรกิจ นโยบายของสถานที่ทำงาน และพฤติกรรมของพนักงานด้วย” นางสาวโชติกา ทั้งศิริทรัพย์ หัวหน้าแผนกวิจัยและที่ปรึกษาการพัฒนาโครงการ ซีบีอาร์อี ประเทศไทย กล่าว

การสำรวจของซีบีอาร์อีด้านการจัดการสถานที่ทำงานและการใช้พื้นที่ เผยว่า มีองค์กรจำนวนมากขึ้นที่มีอัตราการใช้พื้นที่สำนักงานสูงกว่า 100% ซึ่งเป็นผลมาจากการมีพื้นที่ที่ใช้ร่วมกัน เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามีจำนวนพนักงานมากกว่าจำนวนที่นั่งทำงานในสำนักงานนั้น สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำงานแบบไฮบริด  อย่างไรก็ตาม สำหรับอัตราการใช้พื้นที่จริงทั่วโลกยังคงต่ำกว่า 40% ซึ่งเป็นการเน้นย้ำว่า แม้จะมีการวางแผน แต่การใช้พื้นที่ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพยังน้อยกว่า 40%

แม้ว่าการวางแผนที่ดีขึ้นจะนำไปสู่การปรับปรุงพอร์ตโฟลิโอและการลดต้นทุนในที่สุด แต่อัตราการใช้พื้นที่ในระดับต่ำแสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลอย่างมาก ระหว่างอุปทานและความต้องการพื้นที่  พื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานถือเป็นข้อกังวลอันดับต้น ๆ สำหรับผู้นำที่ดูแลด้านอสังหาริมทรัพย์ขององค์กร ส่งผลให้หลายองค์กรต้องเริ่มนำโซลูชันบริหารการใช้พื้นที่เข้ามาช่วยหรือใช้โซลูชันเข้ามาช่วยในระดับที่มากขึ้น เพื่อสนับสนุนการทำงานแบบยืดหยุ่นให้ดียิ่งขึ้น  ในอนาคต องค์กรจะมุ่งเน้นไปที่การเพิ่มพื้นที่สำหรับการใช้งานร่วมกันและตัดพื้นที่ที่ไม่ได้ใช้งานออก เพื่อเกิดประสิทธิภาพในรูปแบบสถานที่ทำงานแบบไฮบริดสูงสุด

การสำรวจล่าสุดของซีบีอาร์อีเกี่ยวกับมาตรฐานสำนักงานและความคิดเห็นของลูกค้าทั่วโลกซึ่งครอบคลุมอาคารเกือบ 1,000 แห่งและพื้นที่สำนักงานเกือบ 6 ล้านตารางเมตรทั่วเอเชียแปซิฟิก ข้อมูลที่ครอบคลุมนี้ช่วยชี้ให้เห็นแนวโน้มสำคัญที่องค์กรสามารถใช้ประโยชน์เพื่อปรับปรุงกลยุทธ์ด้านสถานที่ทำงานของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของรูปแบบการทำงานแบบไฮบริด  ในระดับภูมิภาค สามตัวชี้วัดหลักของสำนักงาน ได้แก่ อัตราการใช้พื้นที่ อัตราการครอบครองพื้นที่ และพื้นที่เฉลี่ยต่อคน บ่งชี้ว่า เอเชียแปซิฟิกมีพื้นที่สำนักงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดในโลก โดยมีประสิทธิภาพสูงขึ้นในช่วงสามปีที่ผ่านมา  โดยในปี 2566 อัตราการครอบครองพื้นที่สูงถึง 125% อัตราการใช้พื้นที่อยู่ที่ 40% และตัวชี้วัดความหนาแน่นอยู่ที่ 12 ตารางเมตรต่อที่นั่งและ 9 ตารางเมตรต่อคน

ผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกประมาณ 90% ให้ข้อมูลว่า ขนาดพื้นที่ขององค์กรตนเองเปลี่ยนแปลงเพียง 10% หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยตั้งแต่ปี 2563 รวมถึงไม่มีการลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  นอกจากนี้ หนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามในเอเชียแปซิฟิกคาดว่าขนาดพื้นที่ในพอร์ตโฟลิโอของตนจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในบรรดาภูมิภาคทั้งหมด นอกจากนี้ บริษัทผู้ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในเอเชียแปซิฟิกยังมีความสอดคล้องระหว่างความคาดหวังของผู้นำและพฤติกรรมของพนักงานสูงที่สุด โดยอยู่ที่ 50% ขณะที่ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 19% ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่บริษัทในเอเชียแปซิฟิกมีการติดตามการเข้าทำงานของพนักงานมากกว่า รวมถึงมีความเคร่งครัดกว่าเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามนโยบาย  โดยจากตัวชี้วัดเหล่านี้ บริษัทจะสามารถเข้าใจได้ดีขึ้นเกี่ยวกับความท้าทายและโอกาสในเรื่องการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งแตกต่างกันตามแต่ละบริษัท และนำไปสู่การตัดสินใจที่ดียิ่งขึ้นเมื่อวางแผนด้านอสังหาริมทรัพย์ขององค์กร

“เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของพื้นที่ทำงาน องค์กรต่าง ๆ จำเป็นต้องมีกระบวนการที่สม่ำเสมอในการพัฒนารูปแบบและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงด้านปริมาณพื้นที่และความต้องการใช้พื้นที่ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง  การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์นี้ไม่เพียงช่วยลดต้นทุนในการดำเนินงาน แต่ยังช่วยให้การลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ขององค์กรสอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมการทำงานในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้องค์กรก้าวสู่ความสำเร็จได้ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว  กระบวนการนี้เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับพื้นที่ในปัจจุบัน พฤติกรรมของพนักงาน นโยบายสำหรับสถานที่ทำงาน ความต้องการทางธุรกิจ และการคาดการณ์จำนวนพนักงาน ข้อมูลเหล่านี้สามารถใช้ในการคำนวณพื้นที่ที่ต้องการสำหรับสำนักงานที่มีรูปแบบทำงานแบบไฮบริดและเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานปัจจุบันและอนาคตในการทำงานแบบยืดหยุ่น  เมื่อเข้าใจความต้องการพื้นที่แล้ว องค์กรจะสามารถพัฒนาแผนสถานการณ์เพื่อประเมินต้นทุนและผลประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงแต่ละรูปแบบที่อาจเกิดขึ้น” นางสาวโชติกา กล่าวเพิ่มเติม

ผู้เช่าพื้นที่สำนักงานส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ เป็นบริษัทข้ามชาติที่ยังคงปรับตัวอย่างต่อเนื่องให้เข้ากับการทำงานแบบไฮบริดรูปแบบต่าง ๆ ดังนั้น ผู้พัฒนาอาคารสำนักงานจะต้องปรับตัวเช่นกันและจัดหาพื้นที่ที่รองรับการทำงานแบบไฮบริดและการทำงานแบบยืดหยุ่น

การเปลี่ยนแปลงในตลาดเช่นนี้ได้เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการปรับแนวทางในการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปขององค์กรต่าง ๆ และพนักงาน เพื่อให้มั่นใจว่าทุกฝ่ายต่างสามารถก้าวสู่ความสำเร็จได้ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  การยอมรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงยกระดับความพึงพอใจของผู้คนในเรื่องพื้นที่ทำงาน และส่งผลให้ทุกฝ่ายสร้างผลลัพธ์มีประสิทธิภาพได้

เกี่ยวกับซีบีอาร์อี กรุ๊ป อิงค์
ซีบีอาร์อี กรุ๊ป อิงค์ (NYSE:CBRE) เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และด้านการลงทุนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (พิจารณาจากผลประกอบการในปี 2567) มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในดัลลัส และได้รับการจัดอันดับให้เป็น 1 ใน Fortune 500 และเป็น 1 ใน 500 บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือมากที่สุดโดยสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส มีบุคลากรประมาณ 140,000 คน (รวมพนักงานของเทิร์นเนอร์ แอนด์ ทาวน์เซนด์) ที่ให้บริการลูกค้ามากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก เปิดให้บริการในกรุงเทพมหานครในปี 2531 และขยายสู่ภูเก็ตในปี 2547 ซีบีอาร์อีให้บริการที่หลากหลายแก่ลูกค้าด้วยการบริการที่ครอบคลุม ตั้งแต่การเป็นตัวแทนในการซื้อขายและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ทุกประเภท การให้คำปรึกษาด้านการลงทุน การประเมินราคาทรัพย์สิน การศึกษาวิจัยตลาดและการเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาโครงการ การบริหารอาคาร การบริหารทรัพยากรทางกายภาพ การบริหารธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ และบริหารโครงการ เข้าชมเว็บไซต์ได้ที่ https://www.cbre.co.th.