บล็อก

จุดเปลี่ยนสู่มาตรฐานใหม่ที่ดีกว่าเดิม

10 เมษายน 2568

a-turning-point-toward-a-new-standard-972x1296

ภัยพิบัติทางธรรมชาติถือเป็นสิ่งที่เราทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องพร้อมที่จะรับมือกับทุกสถานการณ์ และเรียนรู้ไปกับบทเรียนนั้น ๆ เพื่อสร้างสิ่งใหม่ที่ดีกว่าเดิม

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งล่าสุด ส่งผลกระทบต่อโครงการที่พักอาศัยแนวสูงหรือคอนโดมิเนียมหลายแห่ง โดยแต่ละอาคารได้รับความเสียหายมากน้อยแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ต่างกันของแต่ละโครงการ อย่างไรก็ตาม ที่อยู่อาศัยก็ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญพื้นฐานของมนุษย์ การเลือกอยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมนั้น จุดประสงค์หลักคือเรื่องของทำเล การตั้งอยู่ในย่านใจกลางเมือง แนวรถไฟฟ้า ใกล้บริเวณสถานที่สำคัญ เช่น พื้นที่สำนักงาน สถานศึกษา หรือห้างสรรพสินค้า เป็นต้น ซึ่งตอบโจทย์ทางด้านความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต ดังนั้นการมองหาคอนโดมิเนียมจึงเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ

กรณีตัวอย่างที่ผ่านมาในอดีต คือเหตุการณ์มหาอุทกภัยในปี 2554 ที่โครงการแนวราบหรือบ้านได้รับผลกระทบอย่างหนัก ส่งผลให้ครอบครัวจำนวนไม่น้อยหันมาซื้อคอนโดมิเนียมเพื่อหลีกเลี่ยงภัยพิบัติครั้งนั้น ถึงกระนั้นก็ดี โครงการบ้านก็ยังตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่ให้ความสำคัญทางด้านพื้นที่ใช้สอย ทั้งภายในตัวบ้านและพื้นที่ดินโดยรอบ เมื่อภัยพิบัติสิ้นสุดลง ความต้องการโครงการบ้านก็กลับมาเช่นเดิม แต่นำมาซึ่งความระมัดระวังในการเลือกโครงการ และการพิจารณาถึงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ อย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจซื้อ ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงการพัฒนาและออกแบบโครงการจากผู้พัฒนา เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ เราขอเรียกบทเรียนดังกล่าวว่า “จุดเปลี่ยนสู่มาตรฐานใหม่ที่ดีกว่าเดิม”

สำหรับโครงการแนวสูงเองก็ต้องได้รับการออกแบบและก่อสร้างภายใต้มาตรฐานตามที่กฎกระทรวงกำหนด ซึ่งมีการปรับเปลี่ยนข้อกำหนดไปตามช่วงเวลา ไม่ว่าจะเป็นกฎกระทรวงเรื่องระบบป้องกันอัคคีภัย ระบบการจัดแสงสว่างและระบายอากาศ ระบบจ่ายพลังงานไฟฟ้าสำรองกรณีฉุกเฉิน กำหนดการรับน้ำหนัก ความต้านทาน ความคงทนของอาคาร และพื้นดินที่รองรับอาคารในการต้านทานแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว เป็นต้น

จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุดที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา เรามองว่าจะเป็นอีกครั้งที่ทำให้เกิด “จุดเปลี่ยนสู่มาตรฐานใหม่ที่ดีกว่าเดิม” ที่ผู้พัฒนาโครงการแนวสูงต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาอาคาร ทั้งเรื่องการรองรับภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น การออกแบบที่ยกระดับคุณภาพในการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัย คุณภาพของวัสดุในการก่อสร้าง และเทคโนโลยีองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ต้องนำมาใช้เพื่อการพัฒนาที่ก้าวไปข้างหน้าแบบครอบคลุมในทุก ๆ มุม ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องความสวยงาม แต่เป็นในเรื่องของความปลอดภัย สุขอนามัยที่ดี และความยั่งยืนด้วย

ในมุมของผู้ซื้อเอง อาจเริ่มต้นด้วยการทำเช็กลิสต์เบื้องต้นก่อนการเลือกซื้อ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ซื้อมั่นใจว่าการลงทุนนั้น ๆ เป็นไปอย่างรอบคอบและคุ้มค่ามากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น

1. พิจารณาความแข็งแรงและความยืดหยุ่นของโครงสร้างอาคาร ว่าสามารถต้านทานแผ่นดินไหวและแรงลมที่ปะทะอาคารได้หรือไม่ รวมถึงขีดความสามารถในการรองรับแรงสั่นสะเทือนกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหว
2. แนวทางในการป้องกันน้ำท่วม เช่น รูปแบบการระบายน้ำของโครงการ ระบบปั๊มน้ำและไฟฟ้าสำรองที่ทำหน้าที่สูบน้ำ รวมถึงตำแหน่งที่ตั้งของห้องเครื่องที่สำคัญ
3. ระบบตรวจจับและดับเพลิง ระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ บันไดหนีไฟในตำแหน่งที่เหมาะสม
4. ระบบฉุกเฉิน ทางออกฉุกเฉิน และการออกแบบเส้นทางอพยพให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยลดเวลาในการอพยพและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้อยู่อาศัย

เราเชื่อว่า เหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้น จะนำไปสู่จุดเปลี่ยนในการออกแบบและพัฒนาโครงการที่ดียิ่งขึ้นของผู้พัฒนาโครงการในประเทศไทย


บทความโดยคุณ อาทิตยา เกษมลาวัณย์ หัวหน้าแผนกซื้อขายโครงการที่พักอาศัย ซีบีอาร์อี ประเทศไทย