บทความ | การลงทุนที่ชาญฉลาด

การแบ่งทำเลที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ โดย CBRE

09 ธันวาคม 2565

muniq langsuan condo sale bangkok cbre

ช่วงนี้หลายคนคงได้เห็น หรืออ่านข่าวที่เป็นประเด็นร้อนเกี่ยวกับเศรษฐกิจ ทั้งดอกเบี้ยธนาคาร น้ำมัน เงินเฟ้อ และค่าเงิน ที่มีอัตราสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ถึงอย่างไร ที่อยู่อาศัยยังคงเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่คนยังคงมีความต้องการ โดยเฉพาะบนทำเลเด่น จึงทำให้ราคาของที่ดินและที่พักอาศัยในหลายทำเลชั้นนำยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องแม้ในสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน วันนี้ ซีบีอาร์อี จะพาไปรู้จักกับทำเลที่พักอาศัยเด่น ๆ ของกรุงเทพ เพื่อเป็นประโยชน์กับการตัดสินใจเลือกที่พักอาศัยหรือเพื่อการลงทุนในอนาคต

เริ่มจากภาพรวมทำเลในกรุงเทพฯ ซึ่งประกอบไปด้วย ตัวเมืองกรุงเทพฯ (Downtown) กลางเมือง (Midtown) และส่วนสุดท้ายคือ ชานเมือง (Suburban) โดย 3 ส่วนหลักนี้ประกอบไปด้วยทำเลย่อยมากมาย

การแบ่งทำเลที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ โดย CBRE - ชานเมือง

ย่านชานเมือง (Suburban) ประกอบไปด้วยทำเลต่าง ๆ เช่น

ชานเมืองตอนเหนือ (Northern Suburb)

พื้นที่บริเวณปทุมธานี โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเนวเขตเบ่งพื้นที่ และพื้นที่รังสิต

ชานเมืองตะวันออก (Eastern Suburb)

พื้นที่บริเวณถนนลาดพร้าว (จนถึงเขตของจังหวัดปทุมธานี) ถนนศรีนครินทร์ ถนนรามคำแหง ถนนนิมิตรใหม่ ถนนร่มเกล้า และทางหลวงหมายเลข 7

ชานเมืองชั้นนอกตอนเหนือ (Outer Northern Suburb)

อยู่บริเวณ ถนนประดิพัทธิ์ และถนนพหลโยธินเป็นต้นไป โดยมีแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแนวเขตแบ่งพื้นที่ และพื้นที่ดอนเมือง

ชานเมืองตะวันตก (Western Suburb)

พื้นที่บริเวณถนนจรัญสนิทวงษ์ ถนนบรมราชชนนี และถนนกาญจนาภิเษก เป็นต้นไป จนสุดเขตพื้นที่ของจังหวัดกรุงเทพมหานคร

ชานเมืองตอนใต้ฝั่งตะวันตก (Southwestern Suburb)

พื้นที่บริเวณรอบนอกถนนกาญจนาภิเษก รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้มซึ่งอยู่บนถนนราชพฤกษ์ และถนนสุขสวัสดิ์ ไปจนถึงวงแหวนอุตสาหกรรม รวมไปถึงบางส่วนของถนนเพชรเกษม และถนนพระราม 2 จนสุดเขตพื้นที่ของจังหวัดกรุงเทพมหานคร

ชานเมืองตอนใต้ฝั่งตะวันออก (Southeastern Suburb)

พื้นที่บริเวณรอบนอกของใจกลางย่านธุรกิจ หรือ Central Business District (CBD) ติดทางด่วนเฉลิมมหานคร ถนนบางนา-ตราด ด้านหน้าของรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนสถานีแบริ่ง ถนนศรีนครินทร์ ทางหลวงหมายเลข 7 และบางส่วนของทางด่วนบูรพาวิถี รวมไปถึงพื้นที่ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และถนนหมายเลข 2001

การแบ่งทำเลที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ โดย CBRE - กลางเมือง

ย่านกลางเมือง (Midtown) ประกอบไปด้วยทำเลต่าง ๆ เช่น

สุขุมวิทตอนปลาย

พื้นที่บริเวณถนนสุขุมวิทซอย 63 และสุขุมวิทซอย 42 ไปจนถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อนสถานีแบริ่ง และถนนอ่อนนุช ด้านหน้าถนนบางนา-ตราด และถนนศรีนครินทร์

พัฒนาการ/พระราม 9

พื้นที่บริเวณทางด่วนรามอินทรา (ช่วงแยกถนนสุขุมวิทตัดกับทางด่วนรามอินทรา) ถนนลาดพร้าว (ช่วงแยกถนนนวมินทร์ ถึงถนนประดิษฐ์มนูธรรม) และถนนศรีนครินทร์จนถึงถนนอ่อนนุช

รัชดาภิเษก/พระราม 9/ลาดพร้าว

พื้นที่บริเวณถนนวิภาวดี ถึงถนนลาดพร้าว (ช่วงแยกรัชโยธิน ถึงถนนประดิษฐ์มนูธรรม) และถนนจตุรทิศ (ทางด่วนศรีรัชฯ)

พหลโยธิน/วิภาวดี

พื้นที่บริเวณถนนพหลโยธิน จากสถานีรถไฟฟ้าอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จนถึงก่อนถนนรามอินทรา

ปิ่นเกล้า

พื้นที่บริเวณถนนประดิพัทธิ์ เมืองเก่า ไปจนถึงถนนจรัญสนิทวงษ์ และกาญจนาภิเษก

ธนบุรี

พื้นที่บริเวณถนนอรุณอัมรินทร์ ถนนเจริญนคร ถนนราชบูรณะ ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม และถนนราชพฤกษ์ ไปจนถึงถนนกาญจนาภิเษก

แผนที่ที่พักอาศัยย่านเมืองกรุงเทพฯ โดย ศูนย์วิจัยซีบีอาร์อี

ส่วนสุดท้ายคือ ย่านตัวเมืองของกรุงเทพฯ (Downtown) ทำเลประกอบไปด้วย

สีลม/สาทร

พื้นที่บริเวณถนนสีลม สาทร สุรวงศ์ และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ฝั่งเหนือของถนนจันทร์)

ใจกลางลุมพินี

พื้นที่บริเวณถนนวิทยุ เพลินจิต ราชดำริ ชิดลม หลังสวน สารสิน และซอยร่วมฤดี

สุขุมวิท

พื้นที่บริเวณถนนสุขุมวิทซอย 1-63 และ สุขุมวิทซอย 2-42

ปทุมวัน

พื้นที่บริเวณถนนราชปรารภ พญาไท ศรีอยุธยา และเพชรบุรีซอย 1-37

พระราม 3

พื้นที่บริเวณถนนนราธิวาธราชนครินทร์ (ตอนใต้ของถนนจันทร์) ถนนเจริญกรุง และถนนพระราม 3

ริมแม่น้ำ

พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยา ด้านถนนพระราม 3 ถนนเจริญกรุง และถนนเจริญนคร

สุขุมวิทชั้นนอก

พื้นที่บริเวณถนนเพชรบุรีจากซอย 37-47 ของถนนสุขุมวิท และถนนพระราม 4 ตั้งแต่ซอย 2-42 ของถนนสุขุมวิท

การแบ่งทำเลที่พักอาศัยในกรุงเทพฯ โดย CBRE - ตัวเมืองของกรุงเทพฯ

การเติบโตของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ในทำเลต่าง ๆ มีปัจจัยประกอบหลายอย่างที่ทำให้แต่ละทำเลเกิดความนิยมหรือเป็นที่ต้องการแตกต่างกันไป ราคาของที่ดินและที่พักอาศัยมีการปรับตัวกับสังคมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงโครงการของภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาลงทุนหรือพัฒนาย่านนั้น ๆ ส่งผลต่อเทรนด์การขยายตัวของเมืองและมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์

ราคาที่ดินสูงสุดย่านใจกลางธุรกิจกรุงเทพฯ ปี 2553-2563

ปัจจัยที่มีส่วนทำให้ทำเล Downtown หรือย่านตัวเมืองของกรุงเทพฯ มีการพัฒนาโครงการระดับลักซ์ชัวรี่ และ Branded Residence มากกว่าทำเลอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือที่ดินที่มีอยู่อย่างจำกัดในย่านที่เป็นหัวใจของกรุงเทพฯ มีโครงข่ายการคมนาคมทั้งรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ทางด่วน และถนนสายหลักใจกลางเมือง สามารถเดินทางถึงย่านใจกลางธุรกิจ หรือ Central Business District (CBD) ภายในไม่กี่นาที อยู่ใกล้สวนลุมพินีซึ่งเป็นพื้นที่สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของคนกรุงเทพ รายล้อมด้วยห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิต เป็นที่ทราบกันดีว่าจำนวนแปลงที่ดินในบริเวณนี้ที่เหมาะแก่การพัฒนาโครงการนั้นเหลือไม่มากแล้ว และมีราคาเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงทำให้ พื้นที่ย่านเพลินจิตและลุมพินีมีราคาที่ดินที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว